ภาวะ Long COVID
ภาวะ Long COVID เป็นอาการที่ผู้ป่วยโควิด-19 มักพบภายหลังจากรักษาหายแล้ว ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นมีความหลากหลาย และอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยอาจเป็นอาการที่เกิดขึ้นใหม่ หรือเป็นอาการที่หลงเหลืออยู่หลังรักษาหาย ซึ่งสามารถเกิดได้ในทุกระบบของร่างกาย ตั้งแต่ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน และสุขภาพจิต โดยมักพบมีอาการภายหลังได้รับเชื้อ 4 ถึง 12 สัปดาห์ และมีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน โดยอาการที่พบสามารถดีขึ้นหรือแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไปได้ หรือมีการกลับเป็นซ้ำใหม่ได้
Long COVID เกิดกับระบบอะไรได้บ้าง
- ระบบประสาท : อ่อนแรงเฉพาะที่เฉียบพลัน, ปวดศีรษะ, หลงลืม
- ระบบผิวหนัง : ผมร่วง, ผื่นแพ้
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด : เจ็บหน้าอก, ใจสั่น
- ระบบทางเดินหายใจ : หอบเหนื่อย, ไอเรื้อรัง
- ระบบทางจิตใจ : นอนไม่หลับ, วิตกกังวล, ซึมเศร้า
- ระบบทั่วไป : อ่อนเพลีย, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
การตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจเพิ่มเติมที่จำเป็น ได้แก่ การตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ การถ่ายภาพรังสีปอด การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจสมรรถภาพปอด เป็นต้น พิจารณาจากอาการของผู้ป่วย
การตรวจเลือด แนะนำตรวจตามอาการ หรือพิจารณาในบางกรณี เช่น
– ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด หรือ complete blood count (CBC)
– ตรวจปริมาณเกลือแร่ในเลือด (Electrolyte)
– ตรวจการทำงานของไต (BUN, Creatinine)
– ตรวจการทำงานของตับ (Liver function test)
– ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ (Thyroid function test)
– ตรวจปริมาณน้ำตาลในเลือด (FBS)
– ตรวจหาค่าระดับ Pro-inflammatory biomarkers เช่น CRP, D-dimer, IL-6, Procalcitonin เป็นต้น
ปัจจุบันสำนักการแพทย์ของ กทม. ได้เปิดคลินิกรักษาผู้ป่วย Long COVID มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 โดยสามารถเข้ารับบริการในวันและเวลาราชการ เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่พ้นระยะเฉียบพลันและยังคงมีอาการผิดปกติในระบบต่างๆของร่างกาย
โดยจะครอบคลุมการให้คำปรึกษา การตรวจประเมิน การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือตรวจพิเศษ การวินิจฉัย การดูแลรักษา ติดตามอาการ และการส่งต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (กรณีจำเป็น) ในรูปแบบการให้บริการแบบผู้ป่วยนอกและแบบออนไลน์ (Onsite และ Online Telemedicine) โดยจะเปิดคลินิก 1 วัน/สัปดาห์
ข้อมูลจาก สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
Reference:
1. แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 หลังรักษาหาย (Post COVID syndrome) หรือภาวะ Long COVID สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข, กรมการแพทย์